NPK
ความสำคัญของธาตุอาหารหลักต่อการเจริญเติบโตของพืช
บทบาทของธาตุอาหารหลักต่อการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของพืชสรุปได้ดังนี้
1) | ไนโตรเจน เป็นองค์ประกอบใน (ก) โปรตีน (โครงสร้างเซลล์ เอนไซม์ เยื่อหุ้มเซลล์ พาหะสำหรับการดูดน้ำและธาตุอาหาร)
(ข) สารดีเอ็นเอซึ่งเป็นสารพันธุกรรม และสารอาร์เอ็นเอทำหน้าที่ในการสังเคราะห์โปรตีน (ค) ฮอร์โมนพืช คือ ออกซินและไซโทไคนิน และ (ง) สารอินทรีย์ไนโตรเจนในพืชอีกมากมายหลายชนิด |
2) | ฟอสฟอรัส เป็นองค์ประกอบใน (ก) กรดนิวคลีอิก ซึ่งมี 2 ชนิดคือ ดีเอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมและควบคุมการแบ่งเซลล์ และอาร์เอ็นเอทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนและเอนไซม์ (ข) ฟอสโฟลิพิดในโครงสร้างเยื่อของเซลล์ทุกชนิด (ค) สารเอทีพี เป็นแหล่งพลังงานสำหรับกระบวนการต่างๆ ในเซลล์ และ(ง)โคเอนไซม์ ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของเอ็นไซม์ต่างๆ |
3) | โพแทสเซียม ธาตุนี้มิได้เป็นองค์ประกอบของสารอินทรีย์ใดๆ แต่มีบทบาทสำคัญ คือ (ก) ช่วยในการขยายขนาดของเซลล์ ทำให้พืชมีการเจริญเติบโตด้านขนาดและความสูง (ข) ช่วยในการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างน้ำตาลและแป้ง (ค) ขนส่งน้ำตาล สารอาหาร และธาตุอาหารต่างๆ ทางท่อลำเลียงอาหารไปเลี้ยงยอดอ่อน ดอก ผล และราก (ง) ช่วยรักษาสมดุลของประจุไฟฟ้าในเซลล์ เพื่อให้มีสภาพเหมาะกับกิจกรรมต่างๆ (จ) เร่งการทำงานของเอ็นไซม์ประมาณ 60 ชนิด และ (ฉ) ช่วยให้พืชแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคพืชหลายชนิด |
ปัญหาความขาดแคลนของธาตุหลักในดิน
1) | ไนโตรเจน ประมาณ 80% ของไนโตรเจนในดินเป็นองค์ประกอบของอินทรียวัตถุ ดังนั้น อินทรียวัตถุจึงเป็นแหล่งสำคัญของธาตุนี้ แต่ดินที่ใช้เพาะปลูกมักมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1% และปล่อยไนโตรเจนจากอินทรียวัตถุค่อนข้างช้า ดังนั้น ปริมาณของธาตุนี้ที่พืชได้รับจากดินจึงไม่ค่อยเพียงพอ |
2) | ฟอสฟอรัส พืชมักจะขาดฟอสฟอรัส เนื่องจาก (ก) สารประกอบของฟอสฟอรัสในดินทั้งประเภทสารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ส่วนใหญ่ละลายน้ำยาก จึงไม่ค่อยเป็นประโยชน์ต่อพืช สำหรับฟอสเฟตไอออนรูปที่ดูดไปใช้ประโยชน์ คือ H2PO-4 และ HPO4-2 มีอยู่ในสารละลายดินเพียง เล็กน้อย (ข) ดินมีการตรึงฟอสฟอรัสรูปที่เป็นประโยชน์ไว้อย่างแข็งแรงทำให้พืชดูดมาใช้ยาก พืชจึงได้รับธาตุนี้จากปุ๋ยที่ใส่น้อยกว่าความคาดหมาย |
3) | โพแทสเซียม เป็นอีกธาตุหนึ่งที่พืชมักจะขาดแคลน เนื่องจาก (ก) ส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบของแร่ซึ่งไม่ละลายน้ำ (ข) ปุ๋ยที่ใส่ลงไปในดินส่วนหนึ่งถูกแร่ดินเหนียวตรึงไว้ซึ่งพืชดูดมาใช้ประโยชน์ได้ยาก (ค) โพแทสเซียมในดินที่ละลายง่ายมักมีน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช (ง) โพแทสเซียมไอออนในสารละลายของดินซึ่งพืชใช้ประโยชน์ได้มักถูกน้ำชะล้างออกไปจากดิน |
การใช้ปุ๋ยทางดิน
ปุ๋ยที่ใช้ทางดินมีทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ซึ่งผลการใช้เป็นดังนี้
1) | ปุ๋ยอินทรีย์ มีความสำคัญ (ก) ช่วยปรับปรุงสมบัติทางเคมี ฟิสิกส์ และชีวภาพของดินให้เหมาะแก่การเจริญของราก (ข) ให้ธาตุอาหารหลายธาตุ แต่ละธาตุมีปริมาณค่อนข้างต่ำ เช่น ปุ๋ยคอกโดยทั่วไปมีไนโตรเจน 1-2% ฟอสฟอรัส 0.6-0.8% และโพแทสเซียม 1.2-2.0% เท่านั้น การใส่อัตราต่ำจึงให้ธาตุอาหารหลักน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช |
2) | ปุ๋ยเคมี ผลิตโดยกระบวนการทางเคมี ซึ่ง (ก) ประกอบด้วยธาตุอาหารบางธาตุตามที่ระบุไว้ในสูตรปุ๋ย (ข) มีสัดส่วนของธาตุที่เป็นองค์ประกอบแตกต่างกันตามชนิดของปุ๋ย (ค) รูปที่เป็นประโยชน์ของธาตุนั้นๆ มีความเข้มข้นสูง |
การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพต้องยึดหลัก 4 ประการ คือ
1. ใส่ปุ๋ยซึ่งมีธาตุอาหารตรงกับที่ดินขาดแคลน
2. ใช้อัตราพอเหมาะ
3. ใส่ในบริเวณที่พืชดูดไปใช้ได้เต็มที่
4. ใช้ให้สอดคล้องกับช่วงการเจริญเติบโตของพืช
สาเหตุสำคัญที่ทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีทางดินได้ผลต่ำกว่าความคาดหมาย มี 2 ประการ คือ
1. | ไม่ได้ทำตามหลัก 4 ข้อข้างต้น เกษตรกรจึงขาดความมั่นใจว่าได้ใส่ปุ๋ยซึ่งมีธาตุอาหารตรงกับที่ดินขาดแคลนและใช้อัตราพอเหมาะหรือไม่ เพราะมิได้วิเคราะห์ดินเพื่อประเมินระดับของธาตุหลักที่เป็นประโยชน์ |
2. | ประสิทธิภาพตามธรรมชาติของการใช้ปุ๋ยเคมีทางดินที่ให้ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม พืชไร่ทั่วไปในแต่ละฤดูปลูกมีค่าประมาณ 50, 25 และ 50% ตามลำดับ หากปุ๋ยธาตุอาหารหลักที่ใส่ทางดินไม่เพียงพอหรือไม่สมดุลตามความต้องการของพืช ก็ควรเสริมด้วยการใช้ปุ๋ยทางใบ |
การใช้ปุ๋ยทางใบ
การใช้ปุ๋ยทางใบมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ
1. | ป้องกันการขาดธาตุอาหารบางธาตุ เนื่องจากพืชได้รับจากดินและปุ๋ยที่ใส่ทางดินไม่เพียงพอในบางช่วงของการเจริญเติบโต |
2. | เน้นการเพิ่มธาตุอาหารบางธาตุในช่วงวิกฤต เช่น ช่วงที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก ใกล้ออกดอกหรือกำลังพัฒนาผล ซึ่งการขาดธาตุอาหารในช่วงดังกล่าวจะทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก |
3. | ใช้แก้ปัญหาการขาดธาตุอาหารที่ต้องการผลรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง |
อย่างไรก็ตาม การใช้ปุ๋ยทางใบให้เกิดผลดีนอกจากจะเลือกชนิดปุ๋ยที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องใช้ในอัตราที่แนะนำร่วมกับสารเสริมประสิทธิภาพที่ดีและฉีดพ่นอย่างถูกวิธี ในช่วงการเจริญเติบโตที่คาดว่าพืชต้องใช้ธาตุในปริมาณมาก