โรคขอบใบแห้งในข้าว
เตือนเกษตรกรระวังการระบาดของโรคขอบใบแห้งในข้าวระยะแตกกอ กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนให้เกษตรกร หมั่นสำรวจแปลงนาในช่วงนี้อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากในช่วงนี้มีฝนตกและความชื้นในอากาศสูงเหมาะกับการระบาดของโรค หากพบการระบาดของโรคให้ปฏิบัติตามคำแนะนำด้านล่าง สำหรับอาการของโรคนี้เป็นได้ตั้งแต่ระยะกล้า ระยะแตกกอ จนถึงระยะออกรวง มีลักษณะช้ำที่ขอบใบของใบล่าง ต่อมาประมาณ 7-10 วัน จุดช้ำนี้จะขยายกลายเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าว ขอบแผลมีลักษณะเป็นขอบลายหยัก ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็ว แผลอาจมีหยดน้ำสีครีมคล้ายยางสนกลม ๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด หลุดไปตามน้ำหรือฝน ซึ่งจะทำให้โรคสามารถระบาดต่อไปได้ แผลจะขยายไปตามความยาวของใบ บางครั้งขยายเข้าไปข้างในตามความกว้างของใบ ในบางกรณีที่เชื้อมีปริมาณสูงเข้าทำลายทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน ต้นข้าวทั้งต้นจะเหี่ยวเฉาและตายโดยรวดเร็ว เรียกอาการของโรคนี้ว่า ครีเสก
การป้องกันกำจัด
ปฏิบัติตามข้อแนะนำดังนี้
1. | ใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทาน เช่น ในภาคกลางใช้พันธุ์สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 และ กข23 |
2. | ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากในดินที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว |
3. | ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น |
4. | ควรเฝ้าระวังการเกิดโรคถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กข6 เหนียวสันป่าตอง พิษณุโลก 2 ในกรณีที่ปลูกข้าวพันธุ์ไม่ต้านทานต่อโรค ควรเฝ้าระวังการเกิดโรค และใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช แบคบิเคียว (คาโนรอล) หรือ เสตร็พโตมัยซินซัลเฟต + ออกซีเตทตราไซคลินไฮโดรคลอร์ไรด์ (แคงเกอร์เอ็ก) หรือ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ (ฟังกูราน) หรือ ไอโซโพรไทโอเลน (ฟูจิ-วัน) เมื่อเริ่มพบอาการของโรคบนใบข้าว |
**ลักษณะอาการของโรคขอบใบแห้ง**
ที่มา : www.agriqua.doae.go.th/forecast/week/summary_week56.html